อ่านตรงนี้ก่อน :: Wednesday, Dec. 17, 2003 :: แฟร์มาต์ตอนที่ 7 - มิถุนายน – สิงหาคม 1993 – ความผิดพลาดอย่างมหันต์ถูกค้นพบ ::
 
5 เรื่องล่าสุด
 
เรื่องเก่าๆ แบ่งตามหัวข้อย่อย
English
SGfSE
@Work
F.L.T.  **Update**
Health
Miscellaneous
 
แสดงความคิดเห็น
เกสต์บุ๊ค
เว็บบอร์ด
 
ผู้สนับสนุน
ไดอารี่แลนด์
 
:: F.L.T. ::

มิถุนายน – สิงหาคม 1993 – ความผิดพลาดอย่างมหันต์ถูกค้นพบ

ตอนที่ไวล์สเดินลงจากโพเดียมที่แสดงการบรรยายวันพุธนั้นของเดือนมิถุนายน ถึงแม้จะไม่ค่อยมั่นใจแต่บรรดานักคณิตศาสตร์ต่างก็มองโลกในแง่ดี ปริศนาที่มีอายุ 350 ปีดูเหมือนจะได้รับการพิสูจน์ในที่สุด

บทพิสูจน์ยาวเหยียดของไวล์สมีการใช้แนวความคิดและทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อนซึ่งยังไม่เป็นที่รู้จักในสมัยที่แฟร์มาต์ยังมีชีวิต และที่จริงแล้วแนวความคิดเหล่านั้นก็ยังไม่เป็นที่รู้จักจนกระทั่งศตวรรษที่ยี่สิบ จึงจำเป็นต้องมีการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญอิสระ บทพิสูจน์ได้ถูกส่งไปยังนักคณิตศาสตร์ชั้นแนวหน้าจำนวนหนึ่ง

บางทีการทำงานอย่างโดดเดี่ยวเป็นเวลาเจ็ดปีในห้องใต้หลังคาของไวล์สอาจจะกลายเป็นผลสำเร็จอันยิ่งใหญ่ในที่สุด แต่การมองโลกในแง่ดีเช่นนั้นก็จบลงอย่างรวดเร็ว ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ก็มีการพบช่องโหว่ในตรรกะการคิดของไวล์ส เขาพยายามจะซ่อมรอยรั่วนั้น แต่ช่องว่างก็ดูเหมือนจะไม่ยอมหายไป

ปีเตอร์ ซาร์นาค (Peter Sarnak) นักคณิตศาสตร์จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของแอนดรูว์ ไวล์ส เฝ้ามองดูแอนดรูว์ทนทุกข์ทรมานวันแล้ววันเล่าในการพยายามหาบทพิสูจน์ที่เขาบอกกับโลกทั้งโลกว่าเขาได้เป็นเจ้าของเมื่อสองเดือนก่อนหน้านั้นที่เคมบริดจ์

“มันเหมือนกับแอนดรูว์พยายามจะเอาพรมที่มีขนาดใหญ่เกินไปมาปูห้อง” ซาร์นาคอธิบาย “พอเขาดึงมันขึ้นมา พรมก็จะวางได้พอดีที่ด้านหนึ่งของห้อง แต่ข้ามไปอีกฟากหนึ่งของห้อง พรมผืนนั้นก็จะเกยขึ้นมาที่ผนัง พอเห็นดังนั้นเขาก็จะเดินไปที่นั่นและดึงมันลงมา... แต่มันก็จะมีรอยยับโผล่ขึ้นตรงอื่นๆ อีก ทำให้เขาไม่สามารถจะตัดสินใจได้ว่าพรมมีขนาดพอดีกับห้องจริงๆ หรือเปล่า”

ไวล์สหลบไปอยู่ในห้องใต้หลังคาของเขาอีกครั้ง ผู้สื่อข่าวจากนิวยอร์กไทม์สและสื่อมวลชนอื่นๆ ปล่อยเขาไว้กับภารกิจอันแสนโดดเดี่ยว เวลาผ่านไปโดยไม่มีบทพิสูจน์ นักคณิตศาสตร์และคนทั่วๆ ไปเริ่มไม่แน่ใจว่าทฤษฎีบทข้อสุดท้ายของแฟร์มาต์จะเป็นความจริงหรือไม่

บทพิสูจน์อันแสนมหัศจรรย์ที่ไวล์สทำให้โลกทั้งโลกเชื่อว่าเขาได้เป็นเจ้าของ กลายเป็นสิ่งที่เป็นจริงไม่มากไปกว่า “บทพิสูจน์อันแสนมหัศจรรย์ที่น่าเสียดายที่ขอบกระดาษเล็กเกินกว่าที่จะบรรจุมันเอาไว้ได้” ของตัวแฟร์มาต์เอง

« ตอนที่แล้วตอนต่อไป »