อ่านตรงนี้ก่อน :: Tuesday, Jan. 06, 2004 :: Retirement Fund ::
 
5 เรื่องล่าสุด
 
เรื่องเก่าๆ แบ่งตามหัวข้อย่อย
English
SGfSE
@Work
F.L.T.  **Update**
Health
Miscellaneous
 
แสดงความคิดเห็น
เกสต์บุ๊ค
เว็บบอร์ด
 
ผู้สนับสนุน
ไดอารี่แลนด์
 
:: Miscellaneous ::

คำเตือน: การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน

วันที่ 30 ธันวาคม เราลาพักร้อน ก็เลยมีโอกาสได้ไปโอนคอนโดที่เก๋จัดการซื้อไว้ให้ ตอนนี้ดอกเบี้ยมันถูกมากๆ เราคิดว่าเอาเงินฝากธนาคารไว้ก็มีแต่จะหดลงๆ พอดีเก๋เจอคอนโดแถวๆศรีนครินทร์ ราคาสองแสนกว่าบาท ก็เลยมาชวนเราซื้อไว้ให้คนเช่า ได้ค่าเช่าประมาณพันแปด–สองพัน ยังไงก็ดีกว่าฝากธนาคาร

ช่วงก่อนหน้านี้เราก็เคยคุยกันเรื่องการออมการลงทุนระยะยาว ประมาณว่าน่าจะทำการออมหรือการลงทุนก้อนไม่ใหญ่มากที่สม่ำเสมอแต่ไม่ใช่การฝากธนาคาร ตอนแรกก็ว่าจะลงทุนในตลาดหุ้น เลือกหุ้นที่มีพื้นฐานดีๆ แล้วก็ถือยาวๆรับเงินปันผลไปเรื่อยๆ แต่ก็ยังทำใจไม่ได้ซะที ยังไงเราก็ยังรู้สึกว่าตลาดหุ้นเมืองไทยมันออกไปในทางเก็งกำไรกับราคาหุ้นมากกว่าการลงทุนระยะยาว ถ้าซื้อเป็นหุ้นก็ไม่แคล้วต้องมาคอยนั่งเฝ้าคอยนั่งลุ้น

ต่อมาเก๋แนะนำให้เราซื้อ Retirement Fund (หรือ Retirement Mutual Fund – RMF หรือกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ – ตอนแรกเรายังไม่รู้ว่าเขาเรียกภาษาไทยว่าอะไร ไปถามพนักงานที่ธนาคารกรุงเทพสาขาย่อยแถวบ้านเรา เขาไม่รู้จัก Retirement Fund อ่ะ) บอกว่าซื้อแล้วลดหย่อนภาษีได้ด้วยและมีข้อกำหนดไม่ยากมากสำหรับเรา (ต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี ปีละอย่างต่ำ 5,000 บาท ห้ามขายคืนออกก่อนอายุ 55 ปี ถ้าขายคืนออกก่อนอายุ 55 ต้องคืนเงินส่วนที่เคยได้รับลดหย่อนภาษีไปแล้วย้อนหลังไปเป็นระยะเวลาห้าปี ถ้ามีผลกำไรจากการขาย ก็ต้องเอากำไรมาคิดเป็นรายได้และเสียภาษีด้วย) เก๋บอกว่าคิดดูแล้วคนอย่างเราคงไม่ได้ใช้เงินจนถึงบาทสุดท้าย มันต้องมีส่วนหนึ่งที่นอนนิ่งๆเป็น Reserve ก็เอาตรงนี้มาใส่ในกองทุนทุกปีทุกปีก็น่าจะดี และน่าจะดีกว่าทำประกันชีวิตเพื่อการออมแบบที่มีขายอยู่ทั่วไปซะอีก

ตอนสิ้นปีเราได้สลิปเงินเดือนเดือนสุดท้ายก็เลยเริ่มคำนวณภาษี (เราจะได้เงินภาษีคืนส่วนหนึ่งทุกปี เพราะเราบริจาคเงินให้ซีซีเอฟเป็นประจำ มีประสบการณ์จากปีก่อนๆว่า ยิ่งส่งแบบฟอร์มภาษีเร็วเท่าไหร่ ก็จะมีโอกาสได้เงินคืนจากกรมสรรพากรเร็วเท่านั้น) เราเห็นในโปรแกรมคำนวณภาษีที่เป็น Excel File เวอร์ชั่นใหม่ เขามีช่องให้กรอก Retirement Fund ด้วย เลยลองกรอกตัวเลขไปเล่นๆ ปรากฏว่าได้ภาษีคืนอีกเพียบเลย ก็เลยตัดสินใจเอาวันนั้นเลยว่าได้ว่าควรซื้อ Retirement Fund (เงินที่ได้คืน คิดแบบคร่าวๆ จะเท่ากับอัตราภาษีสูงสุดที่เสียคูณกับเงินที่ลงทุนในกองทุน เช่น ถ้าเสียภาษีสูงสุดที่ 10% ซื้อ Retirement Fund หนึ่งหมื่นบาท จะได้ลดหย่อนภาษีหนึ่งพัน ถ้าเสียอัตราสูงสุด 20% ก็สองพัน ฯลฯ) ยังไงถึงผลกำไรจากกองทุนจะไม่มากมาย แต่ก็มากำไรเอาตรงค่าลดหย่อนภาษีนี่แหละวะ

เรากะว่าโอนคอนโดเสร็จก็จะไปซื้อกองทุน แต่ในที่สุดยังไม่ได้ซื้อ เพราะกว่าจะโอนคอนโดเสร็จก็บ่ายโมงเข้าไปแล้ว (คนไปโอนที่โอนบ้านกันเยอะมาก เพราะการยกเว้นภาษีค่าโอนสิ้นสุดปลายปี 46) โชคดีมากที่ทั่นนายกประกาศสับเปลี่ยนวันหยุดสิ้นปี 31 ธันวาคม ทำให้เราสามารถไปซื้อกองทุนในวันสุดท้ายของปี ทันได้ใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีของ 46 อย่างหวุดหวิด

ก่อนจะไปซื้อกองทุนมีเวลาคิดอีกคืนหนึ่งเราก็เลยทำพยายามทำการบ้านเท่าที่ทำได้ ก็ไปตามธนาคารต่างๆแถวบ้านขอข้อมูลเกี่ยวกับกองทุน ได้ความรู้มาว่า การซื้อขายกองทุนต้องซื้อที่ราคาตลาด (ตอนแรกนึกว่าซื้อที่ราคาพาร์) มีกองทุนเยอะมากแล้วแต่ว่าเป็นของบริษัทจัดการสินทรัพย์อะไร อันที่มีธนาคารไหนเป็นผู้ถือหุ้น ก็เปิดบัญชีซื้อขายกับธนาคารนั้นๆ โดยมีบัญชีธนาคารปกติผูกกันไว้ เพื่อใช้ในการโอนเงินเข้าออกเวลาซื้อขายกองทุน เราก็เลยพิจารณาอยู่แค่ไม่กี่บริษัท/ธนาคารที่เราคิดว่าจะไปได้สะดวก

เฉพาะกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพนี้ แต่ละบริษัทก็จะมีให้เลือกอีกหลายแบบว่าจะเป็นกองทุนประเภทไหน ถ้าเป็นกองทุนตราสารหนี้ก็ความเสี่ยงต่ำผลตอบแทนต่ำ (ตราสารหนี้ คือ พวกที่มีความมั่นคงสูง สภาพคล่องสูง อย่างตั๋วเงิน พันธบัตรรัฐบาล อะไรทำนองนี้) ถ้าเป็นกองทุนตราสารทุนก็ผลตอบแทนสูง แต่ก็มีความเสี่ยงสูงไปด้วย (กองทุนแบบนี้เขาเอาเงินเราไปลงทุนในตลาดหุ้นไง ถ้าหุ้นตก กองทุนเราก็ราคาตกไปด้วย แต่เขาก็จะเลือกลงทุนในหุ้นกลุ่มที่มีปัจจัยพื้นฐานดีๆหน่อย (ในใบชี้ชวนของกองทุนเขาจะมีรายละเอียดว่า กองทุนที่ตั้งมาจะเอาไปลงทุนในอุตสาหกรรมอะไรบ้าง เป็นจำนวนกี่เปอร์เซ็นต์) ความเสี่ยงก็จะน้อยกว่าให้เราเอาเงินไปสุ่มเสี่ยงเล่นพนันในตลาดหุ้นแบบไม่มีความรู้ด้วยตัวเอง) แล้วก็มีแบบที่เป็นแบบผสม (ส่วนใหญ่เขาเรียกว่า Flexible Fund) คือเอาเงินส่วนหนึ่งไปซื้อตราสารหนี้ ส่วนหนึ่งไปลงทุนในตลาดหุ้น ก็กลายเป็นพวกผลตอบแทนปานกลางความเสี่ยงปานกลาง

เก๋บอกว่าคนอายุยังไม่มาก (อย่างเรา) ยังรับความเสี่ยงได้สูง เลือกลงทุนพวกผลตอบแทนสูงหน่อยก็ได้ ความจริงตอนนี้สภาพตลาดยังค่อนข้างสดใส (คงสดไปอย่างน้อยครึ่งปี แต่เกินกว่านี้ไม่รู้เหมือนกัน) เราเห็นว่าเลือกแบบตราสารทุนไปเลยก็น่าจะโอเค แต่ในที่สุดเราตัดสินใจซื้อแบบ Flexible Fund ไป ไม่ได้มีอะไรมาก คือตอนนี้สภาพตลาดดี กองทุนตราสารทุนมีผลตอบแทนดี ราคาก็เลยขึ้นไปสูง (ราคาพาร์ 10 บาท แต่ราคาขายประมาณยี่สิบกว่าบาทจนถึงเกือบสามสิบบาทแล้วแต่บริษัทจัดการกองทุน) ราคาของกองทุน Flexible Fund ก็ถูกลงมาหน่อย (สิบกว่าปลายๆ) เราชอบของถูกหนะ

อีกสาเหตุหนึ่งก็คือยังไม่ค่อยมีข้อมูลมากนักในรายละเอียดในหลายๆประเด็น ก็เลยเลือกแบบทางสายกลางไว้ก่อน ประเด็นที่เราสงสัยก็มีเช่นว่า

มีคนบอกว่าซื้อกองทุนแบบหนึ่งไปแล้วสามารถสับเปลี่ยนไปเป็นกองทุนอีกแบบหนึ่งได้ (เช่น ตอนนี้ตลาดหุ้นดีๆ ก็ซื้อกองทุนตราสารทุน พอตลาดฟุบก็โยกหน่วยลงทุนไปเป็นในกองทุนตราสารหนี้แทน) แต่เราไม่แน่ใจว่าการสับเปลี่ยนกองทุน จะต้องคิดกำไรจากที่เราลงทุนไปครั้งแรกหรือเปล่า (เขาจะคิดว่าเราทำผิดข้อกำหนด เพราะคิดว่าเราได้ขายกองเอาเงินออกมาก่อนครบกำหนด 55 ปีหรือเปล่า)

อีกประเด็นหนึ่งก็เป็นความคุ้มค่า คือ เราชักสงสัยอยู่นิดๆว่า ในระยะยาวการได้ลดหย่อนภาษีมันคุ้มค่ากับการที่เราต้องดีเลย์โอกาสการใช้เงินของออกไประยะยาวเช่นนั้นหรือไม่ เช่น การได้ลดหย่อนภาษี 10-20% ปีนี้ แต่เงินก้อนที่เหลืออีก 80-90% ของเราจะนำมาใช้จ่ายได้เมื่ออีก 25 ปีข้างหน้า ซึ่งตามหลักเศรษฐศาสตร์ เงินในวันนี้มีค่าเยอะกว่าเงินในอนาคตมาก (ยิ่งนานไปเงินยิ่งมูลค่าน้อยลงตามอัตราเงินเฟ้อ) ถ้าเงินที่ได้ลดไปน้อยกว่ามูลค่าของเงินที่หดไป ก็ไม่คุ้ม อันนี้เราคิดว่าต้องตั้งสตินิดหนึ่งก็อาจจะหาสูตรการคำนวณได้ หรือไม่ก็อาจจะต้องไปคุยกับเตี่ย

เรามีข้อสงสัยอีกอันหนึ่งซึ่งไม่เกี่ยวกับการตัดสินใจซื้อ/ไม่ซื้อกองทุนซักเท่าไหร่ แต่เกี่ยวกับว่าจะซื้อกองทุนไหนมากกว่า คือเราเข้าใจเอาเองว่าหลักการของกองทุนเพื่อการเลื้ยงชีพ คือการกระตุ้นให้คนออมเงินระยะยาว เอาไว้ใช้ตอนแก่ ฉะนั้นคนที่ซื้อกองทุนก็มักจะซื้อระยะยาวมากกว่าจะเก็งกำไร (โดนบังคับโดยข้อกำหนดของกองทุนด้วย ต้องรอเกษียณก่อนถึงจะขายได้) ในขณะเดียวกันการบริหารกองทุนก็น่าจะมีกำไรดอกผลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มูลค่าของหน่วยลงทุนก็ควรจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ เราสงสัยว่าถึงจุดไหนที่นักลงทุน ไม่ควรจะซื้อหน่วยกองทุนนั้นแล้วเพราะไม่คุ้มที่จะซื้อ เช่น จากราคาพาร์ 10 บาท ถ้าราคาตลาดถึงหนึ่งร้อยบาทไม่ควรซื้อแล้ว มีจุดคุ้ม/ไม่คุ้มแบบนี้หรือไม่

ถ้ามีจุดที่ว่านี้จะมีปัจจัยอื่นเป็นตัวกำหนดด้วยหรือเปล่า เช่น อายุของผู้ลงทุน (ถ้าซื้อตั้งแต่ยังสาวๆ จุดคุ้มอาจจะอยู่ที่ราคาหนึ่ง ถ้าซื้อตอนใกล้เกษียณอาจจะไปอยู่อีกราคาหนึ่ง) หรืออัตราภาษีที่ลดหย่อนได้ (ลดหย่อนได้ 10% กับ 20% อาจจะมีจุดคุ้มทุนอยู่คนละจุด) ฯลฯ หรือว่าไม่มีจุดคุ้ม/ไม่คุ้มในการลงทุนที่ว่านี้ คือ ไม่ว่าซื้อหน่วยลงทุนที่ราคาเท่าไหร่ก็ตาม การซื้อก็ยังดีกว่าไม่ซื้อ ความสงสัยข้อสุดท้ายนี้เรายังคิดไม่ออกว่าจะหาคำตอบด้วยตัวเองได้ยังไง เพราะดูเหมือนกับจะต้องมีความรู้ในเรื่องการลงทุนและตลาดหุ้นมากกว่านี้ ถึงจะวิเคราะห์ได้ – อืมม์ เราคิดมากเกินไปหรือเปล่า

วันนี้เราไปคุยกับพี่ที่ทำงานอีกคนหนึ่งมา เขาเล่าว่าเขาก็ไปซื้อกองทุนมาเหมือนกัน แต่เป็นกองทุนเปิดธรรมดา (Mutual Fund – MF) ไม่ใช่กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ อันนี้มีข้อดีในเรื่องของการได้เงินปันผล (กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพไม่มีปันผล) และการสามารถทำกำไรจากมูลค่าที่เพิ่มขึ้นได้เลยโดยไม่ต้องมีข้อผูกมัดของระยะเวลาไปจนถึงอายุเกษียณ (อยากขายเมื่อไหร่ก็ขายได้เลย) และไม่ต้องการลงทุนแบบต่อเนื่อง ปีละอย่างต่ำ 5,000 บาท แต่กองทุนเปิดธรรมดามีข้อด้อยกว่าก็คือเอามาหักลดหย่อนภาษีไม่ได้ (กองทุนหลายๆกองทุน มีการ “ยกเว้นภาษี” ซึ่งต่างจากการ “หักลดหย่อนภาษี” การยกเว้นภาษี คือ ผลกำไรเงินหรือปันผลที่ได้จากกองทุน จะไม่นำมาคิดรวมกับรายได้ประจำปีของเราในการคำนวณภาษีเงินได้ การหักลดหย่อนภาษี คือการที่รัฐยอมให้เราเอาจำนวนเงินที่ลงทุน ไปหักออกจากรายได้ประจำปีของเรา ก่อนคำนวณภาษี) และ (ข้อนี้เราคิดเอาเอง) การที่กองทุนซื้อขายได้ตลอดเวลาก็ทำให้ราคาผันผวนตามตลาดได้ง่าย ถ้าลงทุนในกองทุนตราสารทุนก็ต้องเฝ้าระวังดูราคากันหน่อย (ถ้าจะไปลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ก็ไม่ต้องเฝ้า แต่เราว่าผลตอบแทนก็อาจน้อยจนไม่ดึงดูดใจ)

มีน้องอีกคนหนึ่งก็บอกว่าแค่ประมาณครึ่งปีที่แล้ว เขาได้เงินปันผลจากกองทุนเปิดมาหลายสตางค์อยู่เหมือนกัน ช่วงตลาดดีแบบนี้ผลตอบแทนของกองทุนตราสารทุนสูงกว่าดอกเบี้ยธนาคารเงินฝากราวฟ้ากับเหว ก็น่าสนใจเหมือนกัน อาจจะคุ้มที่ต้องเฝ้าดูราคา แต่สำหรับตัวเราเองตอนนี้ขอชะลอเอาไว้ก่อน ต้องกันเงินส่วนหนึ่งไว้สร้างสภาพคล่องส่วนตัว (เอาไว้ไปดำน้ำ) กับต้องกันสมองไว้คิดเรื่องอื่นด้วย คิดมากๆหลายๆอย่างพร้อมกันไม่ได้ เดี๋ยวเครื่องแฮงก์

คำเตือน 2: ข้อเขียนวันนี้เขียนจากความ(ไม่)รู้และประสบการณ์ส่วนตัวทั้งสิ้น ไม่มีอะไรที่เป็นหลักฐานอ้างอิงได้เลย ผู้อ่านควรใช้วิจารณญาณก่อนตัดสินใจเชื่อ :-)