อ่านตรงนี้ก่อน :: Wednesday, Jan. 14, 2004 :: The Wolfskehl Prize ::
 
5 เรื่องล่าสุด
 
เรื่องเก่าๆ แบ่งตามหัวข้อย่อย
English
SGfSE
@Work
F.L.T.  **Update**
Health
Miscellaneous
 
แสดงความคิดเห็น
เกสต์บุ๊ค
เว็บบอร์ด
 
ผู้สนับสนุน
ไดอารี่แลนด์
 
:: F.L.T. ::

ตอนที่เราแปล FLT ไปถึงตอนที่บอกว่าบทพิสูจน์รอบแรกของแอนดรูว์ ไวล์สถูกจับผิด ก็มีคำถามว่าใครเป็นจับผิดได้ ในหนังสือต้นฉบับที่แปล (เท่าที่แปลถึง) ก็ไม่ได้บอกไว้ (อาจจะมีกล่าวถึงตอนหลังๆ แต่เรายังอ่านรอบนี้ไปไม่ถึง ที่อ่านไปรอบโน้นก็จำไม่ได้)

เราก็เลยลองไปเสิร์ชในอินเตอร์เน็ตดู ปรากฏว่ายังไม่เจอชื่อคนที่จับผิดแอนดรูว์ ไวล์สได้ แต่ไปเจออีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจอีกเรื่อง คือ Wolfskehl Prize หรือ "รางวัลโวล์ฟสเคห์ล" (อันนี้เราลองอ่านแบบกะๆเอาอ่ะนะ ผิดถูกยังไงไม่รู้ เพราะยังหา Pronunciation บนเว็บไม่เจอ)

เรื่องทฤษฎีบทข้อสุดท้ายของแฟร์มาต์เป็นเรื่องโด่งดังและมีคนสนใจเยอะ มีคนเขียนหนังสือออกมาหลายเล่มมาก และจับเอาแง่มุมต่างๆมานำเสนอ นอกจากเล่มที่เราเอามาแปลให้อ่านกันแล้ว อีกเล่มหนึ่งที่ค่อนข้างดังและมีคนบอกว่าอ่านสนุกพอๆกัน (หรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ จากคำพูดของคนอ่านที่มาวิจารณ์หนังสือใน amazon.com) คือ หนังสือที่เขียนโดย Simon Singh

เราไปเจอเรื่องรางวัลของ Wolfskehl ในเว็บไซต์ของคุณไซมอน ซิงห์นี่เอง

เมื่อประมาณต้นของศตวรรษที่ยี่สิบ (คือ ค.ศ. 1900 ต้นๆ) Paul Wolfskehl (เป็นนักคณิตศาสตร์ชาวเยอรมัน เกิดในปีค.ศ. 1856 ที่เมืองดาร์มสแตดท์ (Darmstadt) ในประเทศเยอรมัน) เป็นคนที่ตั้งรางวัลหนึ่งแสนด๊อยท์เช่อมาร์กให้กับคนที่สามารถพิสูจน์ทฤษฎีบทข้อสุดท้ายของแฟร์มาต์ได้

ในขณะที่เขาประกาศรางวัลออกมา เงินก้อนนี้มีมูลค่าเทียบได้กับเงินหนึ่งล้านปอนด์ในปัจจุบัน เป็นเงินรางวัลก้อนโตที่ทำให้คนยิ่งหันมาสนใจทฤษฎีบทข้อสุดท้ายของแฟร์มาต์กันมากเข้าไปใหญ่ หลังจากที่ทฤษฎีบทข้อนี้อยู่ยงท้าทายการพิสูจน์ของนักคณิตศาสตร์มาเป็นร้อยปี

นอกจากความสนใจในตัวทฤษฎีบทของแฟร์มาต์แล้ว ความสนใจอีกด้านหนึ่งที่คนอยากรู้ก็คือ อะไรทำให้ Wolfskehl ตั้งรางวัลสูงขนาดนั้น?

คำตอบของคำถามนี้เป็น "เรื่องเล่า" เกี่ยวกับเรื่องความรักของ Wolfskehl

"ว่ากันว่า" Wolfskehl ไปหลงรักหญิงสาวคนหนึ่ง (ซึ่งไม่ได้ระบุว่ามีชื่อเสียงเรียงใด) แต่หญิงสาวคนนี้ปฏิเสธรัก ทำให้ Wolfskehl หมดอาลัยตายอยากจนคิดฆ่าตัวตาย เขาตั้งใจว่าจะยิงตัวตายเวลาเที่ยงคืนตรง

แต่ในขณะที่ยังไม่ถึงเวลาที่ตั้งใจไว้ เขาก็ไปที่ห้องสมุดและเปิดอ่านวารสารที่ตีพิมพ์บทความทางคณิตศาสตร์ (อันนี้ทำให้เราสงสัยว่านักคณิตศาสตร์ต้องเป็นแบบนี้ทุกคนหรือเปล่าหนอ? ขนาดจะตายแล้วยังฆ่าเวลาอย่างมีสาระ) ปรากฏว่าอ่านไปอ่านมาก็บังเอิญไปเจอบทความของ Ernst Kummer เข้า

ในบทความที่ว่า Kummer พยายามจะแสดงว่าบทพิสูจน์ทฤษฎีบทข้อสุดท้ายของแฟร์มาต์ที่นักคณิตศาสตร์อีกคนหนึ่งที่ชื่อ Augustine Cauchy เคยพยายามพิสูจน์ไว้มีข้อผิดพลาด

Wolfskehl อ่านบทความของ Kummer แล้วก็เริ่มพยายามที่จะหาบทพิสูจน์บ้างว่า แนวความคิดของ Kummer นั้นไม่ถูกต้องและแนวความคิดของ Cauchy น่าจะสามารถนำมาแก้ไขบางส่วน แล้วทำให้กลายเป็นบทพิสูจน์ของทฤษฎีบทข้อสุดท้ายของแฟร์มาต์ได้

ข่าวร้ายสำหรับ Wolfskehl ก็คือ แนวความคิดของ Kummer นั้นถูกต้องอยู่แล้ว และทฤษฎีบทข้อสุดท้ายของแฟร์มาต์ก็ยังเป็นทฤษฎีบทที่รอคอยการพิสูจน์อยู่ต่อไป (ในขณะนั้น)

แต่ข่าวดีก็คือ พอ Wolfskehl มารู้ตัวอีกทีหนึ่ง มันก็เลยเวลาที่เขาตั้งใจจะยิงตัวตายไปเสียแล้ว...

Wolfskehl สนุกสนานตื่นเต้นกับการคำนวณของตัวเองมากจนกระทั่งล้มเลิกความตั้งใจที่จะฆ่าตัวตาย และด้วยความสำนึกว่าตัวเองรอดตายเพราะปัญหาทางคณิตศาสตร์สุดท้าทายข้อนี้ เขาจึงตั้งเงินรางวัลหนึ่งแสนด๊อยท์เช่อมาร์กให้กับคนที่สามารถพิสูจน์มันได้เป็นการแทนคุณ

เรื่องที่เล่ามานี้เป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ได้ยินได้ฟังกันมาเมื่อมีการพูดถึง Wolfskehl Prize แต่ต่อมีคนอีกคนหนึ่งที่ค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับแรงบันดาลใจของ Wolfskehl คือ Professor Klaus Barner

เขาได้เสนอทฤษฎีที่แตกต่างจากเรื่องเวอร์ชันเก่าที่เพิ่งเล่าไปแล้วขึ้นมาสองแนวทาง

แนวทางแรกคือ Wolfskehl นั้นตอนแรกตั้งใจจะเรียนหมอ แต่หลังจากเรียนจบแล้วก็เกิดมีอาการเส้นโลหิตตีบตันจนพิการ ทำให้ไม่สามารถประกอบวิชาชีพเป็นหมอได้ เขาก็เลยหันเหไปเรียนคณิตศาสตร์ซึ่งเขาคิดว่าเป็นอาชีพที่สามารถปฎิบัติงานได้แม้จะต้องนั่งในรถเข็นก็ตาม ต่อมาเขาจึงตั้งเงินรางวัลขึ้นเพื่อเป็นการแสดงให้เห็นคุณค่าของคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างอาชีพใหม่ให้เขา

อีกทฤษฎีหนึ่งที่ Barner เสนอขึ้นมากลับเป็นตรงกันข้าม คือ Wolfskehl อาจจะไม่ได้ตั้งรางวัลเพื่อแสดงความสำนึกในบุญคุณ แต่เป็นการแสดงความเกลียดชังต่างหาก เนื่องจาก Wolfskehl มีอาการพิการอย่างหนัก ครอบครัวของเขาจึงต้องการบังคับให้เขาแต่งงาน

ผู้หญิงที่ยอมแต่งงานกับเขาก็คือสาวแก่อายุ 53 ปีชื่อ Marie Frohlich ซึ่งตลอดช่วงชีวิตแต่งงานที่อยู่ด้วยกัน ก็ทำตัวร้ายกาจกับ Wolfskehl มาก โดยเฉพาะในช่วงปลายๆชีวิตของ Wolfskehl เขาก็เลยตัดสินใจเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมไม่ยกเงินสมบัติให้กับภรรยาที่เขาแสนเกลียดชัง แต่กลับไปตั้งเป็นรางวัลให้กับคนที่พิสูจน์ทฤษฎีบทข้อสุดท้ายของแฟร์มาต์แทน

เงินรางวัลก้อนใหญ่ที่ Wolfskehl ตั้งไว้ ตกเป็นของแอนดรูว์ ไวล์สในปีค.ศ. 1997 แต่เนื่องจากเกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างหนักในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งทำให้เงินด๊อยท์เช่อมากร์กมีมูลค่าลดลงอย่างมากมาย จากที่เดิมมีมูลค่าเทียบเท่าหนึ่งล้านปอนด์ แอนดรูว์ ไวล์สได้รับรางวัลเงินที่มีมูลค่าเทียบเท่า 30,000 ปอนด์เท่านั้น

แต่สำหรับแอนดรูว์ ไวล์ส มูลค่าของเงินคงไม่สำคัญเท่าไหร่ การได้ทำความฝันสมัยเด็กให้เป็นความจริงต่างหาก ที่เป็นรางวัลอันแสนยิ่งใหญ่ของชีวิต